ไอเรื้อรัง

อาการไอ เป็นการตอบสนองของร่างกาย เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในทางเดินหายใจ เช่น เชื้อโรค เสมหะ หรือฝุ่นควัน ร่างกายก็จะพยายามกำจัดทิ้งด้วยการไอออกมา ซึ่งส่วนมากการไอต่อเนื่องมักไม่เกิน 3-4 สัปดาห์ก็จะหาย

หากบางกรณีที่ไม่ใช่เกิดจากสิ่งแปลกปลอมที่กำจัดได้ด้วยการไอ เช่น อาจมีบางอยากไปกดทับที่บริเวณของเนื้อปอดหรือหลอดลมทำให้เกิดอาการไอ เช่น ก้อนเนื้อหรือมะเร็งปอด ทำให้ร่างกายนั้นพยายามจะขับออกมา แต่ไม่สามารถขับได้ จึงเป็นสาเหตุของอาการไอเรื้อรังที่ไม่หายไป

ไอเรื้อรัง

ภาวะไอเรื้อรังมีสาเหตุหลากหลาย อาจเกิดจากภาวะติดเชื้อ หรือภาวะที่ไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อ เช่น ภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบ หอบหืด บางกรณีภาวะไอเรื้อรังอาจเกิดจากโรคอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ เช่น กรดไหลย้อน ภาวะหัวใจวาย ดังนั้นการหาสาเหตุของไอเรื้อรังอาจไม่ได้คำตอบในการพบแพทย์ครั้งแรก การวางแผนการวินิจฉัยและติดตามการรักษาจึงต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือจากผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

ไอแบบไหนควรพบแพทย์

-ไอติดต่อกันมากกว่า 8 สัปดาห์
-อาการไอรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
-อาการไอที่มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีเลือดปน -น้ำหนักลด เบื่ออาหาร หอบเหนื่อย อ่อนเพลีย -เจ็บหน้าอก
-ไอมีเลือดปนเสมหะ
-ไอจากการที่เคยสัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรคหรืออยู่-ใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค
-มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไต หัวใจ เมื่อมีอาการไอควรรีบมาพบแพทย์

ไอเรื้อรังอย่าปล่อยไว้นานเพราะอาจเป็นหนึ่งในอาการของโรคเหล่านี้

วัณโรคปอด แม้ในระยะแรกจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจะมีอาการไอเรื้อรัง มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางรายอาจไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย
มะเร็งปอด เมื่อโรคเป็นมากขึ้น มีอาการไอเรื้อรัง บางรายอาจไอออกเป็นเลือดสด บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้ร่วมด้วย
ถุงลมโป่งพอง มักพบในคนที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน ผู้ป่วยมักมีอาการไอแบบมีเสมหะเรื้อรัง และหอบเหนื่อยง่าย มีหายใจเสียงดัง

โรคหืด มักมีอาการไอ โดยเฉพาะเวลากลางคืน อากาศเย็น ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับขนาดหลอดลมฝอยว่าตีบมากหรือน้อย อาการมีได้ตั้งแต่หายใจไม่สะดวก ไอมาก หายใจดัง หอบเหนื่อย อาการมักจะกำเริบเมื่อติดเชื้อทางเดินหายใจร่วมด้วย

โรคภูมิแพ้อากาศ มักมีอาการคันจมูก คันคอ ไอ จาม บางรายมีน้ำมูกใสๆ ร่วมด้วย มักมีอาการเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ อากาศเย็น เป็นต้น
กรดไหลย้อน มีอาการไอแห้งๆ โดยเฉพาะหลังอาหาร หรือเวลาล้มตัวลงนอน อาจจะมีอาการแสบร้อนในอกหรือเรอเปรี้ยวร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
ไซนัสอักเสบ มักจะมีอาการเป็นหวัดหรือโรคภูมิแพ้อากาศนำมาก่อน บางรายอาการหวัดอาจดีขึ้นในช่วงแรก แล้วแย่ลงภายหลัง มักไอเวลากลางคืนเพราะน้ำมูกไหลลงคอ
ภาวะทางเดินหายใจไวต่อสิ่งกระตุ้น พบตามหลังโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ คือเมื่ออาการหวัดหายแล้ว แต่ยังมีอาการไออยู่ โดยไอมากกลางคืนหรือเวลาอากาศเย็นๆ ถูกลม เป็นต้น

ไอเรื้อรัง รักษาได้…
การรักษาไอเรื้อรังนอกจากจะรักษาตามสาเหตุของโรคแล้ว ยังต้องรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นควบคู่กัน ซึ่งนอกจากการซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อวินิจฉัยโรคแล้ว บางรายอาจต้องส่งตรวจยืนยันตามความเหมาะสม อาทิ ตรวจดูโพรงจมูก ลำคอ เอกซเรย์โพรงไซนัส เพื่อดูกลุ่มอาการไซนัส ส่งตรวจเอกซเรย์ปอด เพื่อดูความผิดปกติของปอด ตรวจเสมหะ ตรวจสมรรถภาพปอด เพื่อดูโอกาสของหอบหืด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก กรณีที่ตรวจพบความผิดปรกติจาก X-ray ปอด อาจต้องทำการส่องกล้องทางเดินหายใจ (Fiber Optic bronchoscopy) เพื่อยืนยันการวินิจฉัย

อย่างไรก็ตามการดูแลตัวเองก็สำคัญ อย่าลืมที่จะไปพบแพทย์หากร่างกายมีอาการผิดปกติ

ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่ swelinx.com