จอประสาทตาเสื่อม คือ ภาวะที่นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น ซึ่งพบได้มากในผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสาเหตุจากจุดรับภาพตรงกลางของจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งโรคจอประสาทตาเสื่อมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและประเภท

โรคจอประสาทตาเสื่อมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

จอประสาทตาเสื่อม

จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry AMD) มีจุดสีเหลืองบริเวณจอรับภาพตรงกลางของประสาทตาซึ่งเรียกว่า ดรูเซ่น (Drusen) สะสมอยู่ใต้จอประสาทตา จุดสีเหลืองนี้ทำลายเซลล์รับแสง ซึ่งนำไปสู่การมองเห็นที่บิดเบี้ยว โรคมักแสดงอาการอย่างช้า ๆ และในบางกรณีอาจกลายเป็นจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกได้

จอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD) พบเพียง 10 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด เกิดจากเส้นเลือดฝอยด้านหลังจอประสาทตาผิดปกติ ซึ่งมีของเหลวในหลอดเลือดรั่วไหลไปโดนจุดรับภาพ ทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างมากทั้งแบบถาวรและเฉียบพลัน

อาการจอประสาทตาเสื่อม

อาการจอประสาทเสื่อมชนิดแห้ง อาการในช่วงแรก ผู้ป่วยอาจมองเห็นภาพเบลอและจุดดำหรือจุดบอดตรงกลางภาพ เมื่อเวลาผ่านไป จุดดำในภาพจะเริ่มขยายใหญ่ซึ่งส่งผลต่อการมองเห็น ทำให้อ่านหนังสือลำบากหรือมองเห็นรายละเอียดไม่ชัด

อาการจอประสาทเสื่อมชนิดเปียก ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพบิดเบี้ยว พร่ามัว เห็นจุดดำขนาดใหญ่ในภาพซึ่งเป็นผลมาจากการที่เลือดไหลไปอยู่ในจุดรับภาพ

อาการโดยทั่วไปที่เหมือนกันของโรคจอประสาทตาเสื่อมทั้ง 2 ประเภท มีดังนี้

มองภาพบิดเบี้ยว
มองในที่สว่างไม่ชัด หรือแพ้แสง
ปรับสายตาจากการมองเห็นในที่มืดมาที่สว่างไม่ค่อยได้
สูญเสียความสามารถในการมองเห็น ตามัว มีจุดดำหรือเงาบังอยู่ตรงกลางภาพ
เห็นสีผิดเพี้ยน
สาเหตุของจอประสาทตาเสื่อม

โรคจอประสาทตาเสื่อมนี้เป็นไปตามวัย สาเหตุเกิดจากจุดรับภาพซึ่งอยู่ตรงกลางจอประสาทตามีปัญหา โดยจุดรับภาพนี้เป็นจุดที่มีความไวต่อแสง ช่วยในการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ให้เห็นได้ชัดเจนที่สุดของจอประสาทตา

จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง เกิดจากเซลล์รับแสงในจุดรับภาพเริ่มเสื่อมสภาพลงเรื่อย ๆ ตามวัยที่เพิ่มขึ้น อาจมีของเสียสะสมอยู่ในจอประสาทตาซึ่งเรียกว่าดรูเซ่น และเซลล์รับแสงในจุดรับภาพมีจำนวนน้อยลง การมองเห็นบริเวณกลางภาพแย่ลง ทำให้ต้องใช้แสงสว่างมากกว่าปกติเมื่อต้องอ่านหนังสือหรือทำกิจกรรมระยะใกล้

จอประสาทเสื่อมชนิดเปียก เส้นเลือดฝอยเกิดใหม่ใต้จุดรับภาพขยายจำนวนมากขึ้น ถ้าเส้นเลือดฝอยก่อตัวผิดตำแหน่ง ทำให้ส่งผลเสียมากกว่าผลดีเพราะของเหลวในเส้นเลือดจะไหลซึมเข้าตา และทำให้ ประสิทธิภาพการทำงานของบริเวณจุดรับภาพลดลง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม

โอกาสเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมนั้นเกิดได้จากหลายปัจจัย ได้แก่

อายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
เผชิญแสงแดดหรือแสงอัลตราไวโอเลตเรื้อรัง
น้ำหนักเกินมาตรฐาน
สูบบุหรี่
ดื่มสุรา
มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม
ผู้ที่เป็นโรคหัวใจหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลในหลอดเลือดสูง
การวินิจฉัยจอประสาทตาเสื่อม

เบื้องต้น จักษุแพทย์จะตรวจดวงตาโดยใช้ยาหยอดขยายม่านตาและอุปกรณ์ขยายส่องจอตา (Opthalmoscope) เพื่อดูความผิดปกติของจอประสาทตาด้านหลัง
ทดสอบด้วยตารางชนิดพิเศษ (Amsler Grid) จักษุแพทย์จะให้ผู้ป่วยทดสอบดูตารางชนิดพิเศษ หรือที่เรียกว่า ตารางแอมสเลอร์ ซึ่งตารางนี้มีทั้งเส้นแนวตั้งแนวนอน โดยมีจุดอยู่ตรงกลาง ถ้าผู้ป่วยมอง
เห็นเส้นบางเส้นไม่ชัด หรือเส้นจางหายไป แพทย์จะสันนิษฐานว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม
ถ่ายภาพจอประสาทตา บางครั้งจักษุแพทย์จะถ่ายภาพจอประสาทตาของผู้ป่วยเพื่อค้นหาว่าส่วนใดเสียหาย ซึ่งการถ่ายภาพจอประสาทตาทำได้หลายวิธี อย่างการใช้กล้องฟันดัส (Fundus) ซึ่งเป็นกล้องสำหรับใช้ถ่ายภาพจอประสาทตาแบบดิจิตอล
เอกซเรย์ตรวจเส้นเลือด (Fluorescein Angiography) แพทย์อาจวินิจฉัยโดยการเอกซเรย์ตรวจเส้นเลือดซึ่งทำให้เห็นภาพหลอดเลือดและการไหลเวียนของเลือดอย่างชัดเจน โดยฉีดสีซึ่งเรียกว่า ฟลูออเรสเซนเข้าไปในเส้นเลือดผ่านทางแขนซึ่งสีที่ว่าจะวิ่งผ่านหลอดเลือดไปยังจอประสาทตา แพทย์ถ่ายภาพเก็บไว้เป็นชุดภาพซึ่งจะทำให้เห็นว่าสีที่ฉีดไว้รั่วไหลออกจากหลอดเลือดบริเวณใดบ้างเพื่อระบุชนิดของโรคจอประสาทตาเสื่อมต่อไป
การรักษาจอประสาทตาเสื่อม

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาจอประสาทตาเสื่อมให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาดูแลดวงตาเพื่อช่วยป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้ หรือชะลออาการป่วยของโรค

การรักษาจอประสาทเสื่อมชนิดแห้ง

ติดตามการรักษาตามแพทย์นัดเพื่อประเมินอาการและความผิดปกติขอจอประสาทตา
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
หลีกเลี่ยงแสงแดดจ้า สวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ และพบว่าอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี สังกะสี และลูทีน (Lutein) อาจช่วยชะลอการเสื่อมของจอประสาทตาได้
การรักษาด้วยเลเซอร์อาจมีประโยชน์ในผู้ป่วยบางราย
การรักษาจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก

การใช้ยาประเภทยับยั้งการสร้างหลอดเลือดจำพวก เบวาซิซูแมบ อะฟลิเบอร์เสบ แรนิบิซูแมบ ยาอาวาสติน (Avastin) ยาอายลี ยาลูเซนทิส ยามาคูเจน เป็นต้น
การรักษาด้วยโฟโตไดนามิก เป็นการรักษา 2 ขั้นตอนโดยใช้ยาไวต่อแสงไปทำลายหลอดเลือดที่ผิดปกติ โดยแพทย์จะฉีดยาเข้าไปในกระแสเลือดเพื่อให้ซึมบริเวณที่หลอดเลือดมีความผิดปกติของดวงตา แล้วจึงฉายแสงเลเซอร์เย็นเข้าไปในตาเพื่อกระตุ้นยาให้ทำลายหลอดเลือดที่ผิดปกติอีกทีหนึ่ง
การผ่าตัด เป็นการผ่าตัดเอาเส้นเลือดเกิดใหม่ออกมา
ภาวะแทรกซ้อนของจอประสาทตาเสื่อม

หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนของโรคจอประสาทตาเสื่อม คือ ผู้ป่วยไม่สามารถทำงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ดีเท่าเดิม เนื่องจากการมองเห็นลดลง เช่น การอ่าน และการขับขี่ เป็นต้น โดยประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมประสบกับความวิตกกังกล หรือซึมเศร้า ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ไม่สามารถขับรถยนต์ได้ หรือหากจำเป็นต้องขับรถ แพทย์จะให้ผู้ป่วยทดสอบการมองเห็นก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยสามารถควบคุมรถได้

การป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อม

โรคจอประสาทตาเสื่อมยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล แต่มีวิธีช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคได้ โดยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เช่น ออกกำลังกายให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่ดีต่อร่างกาย ควบคุมน้ำหนัก และ เลิกบุหรี่ แม้จอประสาทตาเสื่อมจะไม่สามารถป้องกันหรือรักษาได้ แต่หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ มีการตรวจสุขภาพกายและตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ ได้รับการรักษาทันท่วงทีจะช่วยชะลอความรุนแรงของโรค และลดโอกาสการสูญเสียการมองเห็น

คำถามที่พบบ่อย (FAQ’s)

เป็นจอประสาทตาเสื่อม ควรทำอย่างไร
-หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงแสงแดดจ้า สวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่

ที่มา

<strong>pobpad.com</strong><a href=”https://www.pobpad.com/”></a>

ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่ swelinx.com